เลือกน้ำมันเครื่อง ไม่ให้ถูกหลอก

เลือกน้ำมันเครื่อง ไม่ให้ถูกหลอก

คือ สร้างความสับสนในการเลือก เพราะฉลากสินค้ามีการเล่นคำมากมายเหลือเกิน ว่าอย่างงั้นอย่างงี้ แต่จริงๆแล้วไม่ใช่มีคุณสมบัติแบบที่เราเข้าใจ คือเราเข้าใจผิด เพราะคำที่เขียนบนฉลากนั่นแหละ สุดท้ายอยากได้น้ำมันเครื่องเกรดสูงๆ กลายเป็นได้ของอีกเกรดมาแทน แบบนี้มันช้ำใจ

อีกแบบนึงคนซื้อเข้าใจผิดคิดว่าเป็นกึ่งสังเคราะห์แต่ราคาถูกก็เลยซื้อมา แต่จริงๆแล้ว เป็นเกรดต่ำกว่ากึ่งสังเคราะห์ แล้วก็บอกต่อๆกันว่าตัวที่ซื้อมา ถูกกว่า ยี่ห้อนั้น ยี่ห้อนี้ กลายเป็นว่า พากันไปใช้ขอสเป็คต่ำกว่าโดยไม่รู้ตัว

เพราะว่าตอนนี้น้ำมันเครื่องมีหลากหลายยี่ห้อ และ รุ่น มากๆ ใช้คำสื่อความหมาย ประสิทธิ์ภาพแบบการตลาด ทำให้เข้าใจผิดได้ง่าย ผมก็เลยอยากจะบอกว่ามันต้องดูอะไรบ้าง ในการเลือกใช้น้ำมันเครื่องสักตัวนึง ให้เหมาะกับเรา เหมาะกับรถ และ เหมาะสมกับเงินที่จ่ายออกไป

รวมถึงประเด็น มีหลายคนบอกว่า น้ำมันเครื่องถูกๆ มันไม่ดีหรอก คือ จริงๆแล้ว เมื่อก่อนผมก็คิดแบบนั้น จนได้มาศึกษาอย่างจริงจัง (ขึ้นมาหน่อย) จนได้รู้เช่นเห็นชาติกันแล้วว่าแต่ละเกรดมันเป็นมายังไง คราวนี้ก็เลือกของมีคุณภาพตามที่ต้องการได้แล้ว…

ก็เดี๋ยวจะอธิบายให้ฟังด้านล่างนะครับ ยาวนิดนึง

ผมสรุปให้ก่อนเลย

น้ำมันเครื่องราคาถูก (เกรดธรรมดา-กึ่งสังเคราะห์) เหมาะ กับผู้ที่ใช้รถแบบชิลๆ รับ-ส่งลูก ไปตลาด ไปห้าง ไม่ขับเร็วหรือลากรอบสูงบ่อยๆ เพราะต้านการสึกหรอไม่ดีนัก เน้นจอด ลุง ป้า น้า อา ญ ช ไม่ได้ชอบขับรถเป็นชีวิตจิตใจ ให้ใช้ตัวนี้พอ ประหยัดตังค์ด้วย

น้ำมันเครื่องราคาปานกลาง (เกรดกึ่งสังเคราะห์-เกรดสังเคราะห์) เหมาะ กับผู้ที่ใช้รถเน้นสมรรถนะ ใช้รอบสูง เร่งเร็วแรง บ้าง ไป ตจว บ่อยแซงเก่ง ไรทำนองนี้ หรือ ใครที่ขับสุภาพแต่ชอบขับรถ ช่างสังเกตุ เครื่องยนต์ลื่นขึ้นหลังเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง อะไรแบบนี้ก็มาใช้ตัวนี้จะถูกจริตมากกว่าตัวแรก อีกอย่างนึงคือมันต้านการสึกหรอได้ดีกว่า และคงสภาพความใหม่ได้ดีกว่าแบบรู้สึกได้

น้ำมันเครื่องราคาสูงมาก (เกรดสังเคราะห์พิเศษสุด) เหมาะ กับสายซิ่ง สายแข่งขัน รอบสูง เร็ว แรง เป็นระยะเวลานาน

ใครอยากรู้รายละเอียดเพิ่ม ก็อ่านต่อ
น้ำมันเครื่อง ถูก = ห่วย

คำนี้ถูกบอกต่อๆกันมา และ หลายคนใช้ก็รู้สึกเช่นนั้น แต่เราอย่าไปตราหน้าน้ำมันเครื่องราคาถูกว่าเป็นแบบนั้นเลย

แท้จริงแล้ว คือ เกิดจากตัวเรา เลือกของไม่เหมาะกับตัวเอง

น้ำมันเครื่อง เกิดมา มีหน้าที่ เฉพาะตัว

เพราะว่า ของแต่ละอย่าง มีคุณสัมบัติ มีหน้าที่เฉพาะ ของมัน

เราเป็นคนขับรถเร็ว รอบสูง มาใช้น้ำมันเครื่องที่ราคาถูก มันก็ไม่เหมาะ เพราะเขาออกแบบมาให้สำหรับคนที่ขับรถชิวๆ ไม่รุนแรง นั่นไง แล้วมันจะไปทน หรือ มีประสิทธิภาพสู้ของคนละเกรดได้อย่างไร ก็งงกับตัวเองที่เคยคิดแบบนั้นเหมือนกัน

ส่วนคนขับรถชิวๆ ไปเปลี่ยนน้ำมันเครื่องเกรดซิ่ง ก็จะมาบ่นว่า เปลี่ยนน้ำมันเครื่องแพงมากเลย เพราะว่าไม่ใช้ประสิทธิภาพของมันอย่างเต็มที่ มันก็ประมาณนี้แหละ เลือกของไม่เหมาะกับตัวเอง

จริงๆ มันก็เกิดจากความไม่รู้ข้อมูลมาก่อนแค่นั้นเอง

อะ อีกนิดนึง ก็ต้องดูรถยนต์ตัวเองด้วย เอิ่ม เช่น เป็นคนขับรถชิว จ่ายตลาด ส่งลูก แต่รถที่ใช้เป็นพวกรถสปอร์ต สมรรถนะสูง แบบนี้ทางบริษัทผู้ผลิตเขาก็จะกำหนดมาแล้วว่าต้องใช้น้ำมันเครื่องเกรดประมาณไหนที่เหมาะสมกับเครื่องยนต์ที่พวกเขาออกแบบมา ก็ต้องยอมใช้น้ำมันเครื่องตามสเป็คไปนะครับ จะไปใช้น้ำมันเครื่องเกรดต่ำกว่าก็อาจจะทำให้เครื่องยนต์สึกหรอมากกว่าปกติ หรือ สมรรถนะลดลงได้ ในระยะยาว

ต้นกำเนิดน้ำมันเครื่อง

น้ำมันเครื่อง ราคาจะแพง จะ ถูก ก็เริ่มจากต้นกำเนิด ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม เรียกว่า Base Oil แล้วเอาแต่ละกลุ่มมาผสมๆกันเป็นน้ำมันเครื่องเกรดต่างๆ ให้เราได้เลือกซื้อไปใช้งาน กลุ่มต้นๆ ก็มาจากธรรมชาติ ผ่านกรรมวิธีน้อย ต้นทุนต่ำ ก็จะถูก ส่วนแบบสังเคราะห์จากหลอดแก้ว ก็ต้นทุนสูง ก็จะแพง ประสิทธิภาพก็จะดีในหลายๆด้าน

มาดูกัน Base Oil ทั้ง 5 แตกต่างกันยังไงบ้าง

เบสออย Base Oil ยิ่งผ่านกรรมวิธีทางเคมี ก็ยิ่งมีคุณสมบัติดีขึ้น ใสบริสุทธิ์ขึ้น ตามเลขของเบสออย ยิ่งเลขมากยิ่งดี

Base Oil ยังไม่ใช่จุดแบ่งเกรดน้ำมันเครื่อง นะครับ ที่เราเรียกว่าน้ำมันเครื่องเกรดธรรมดา กึ่งสังเคราะห์ สังเคราะห์ อะไรพวกนั้น แต่มันคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราว ประเภทของน้ำมันเครื่องที่มีมากมาย เยอะฉิบหาย จนเลือกไม่ถูกในปัจจุบัน

Base Oil คือ วัตถุดิบหลัก ในการผลิต น้ำมันเครื่อง น้ำมันหล่อลื่น เป็นตัวหลักในการ แบ่งคุณภาพ และ ราคา

ในปัจจุบัน (เท่าที่ผมรู้) Base Oil แบ่งเป็น 5 กลุ่ม และ เรียงลำดับตามคุณภาพ เริ่มจาก 1 ถึง 5 ดังนี้ (ไงเหมือนเรียนหนังสือไหมครับ)

Base Oil Group 1 คือ น้ำมันแร่ คือ น้ำมันตั้งต้นที่ขุดได้ตามธรรมชาติ มีความสามารถในการหล่อลื่น ปกป้องและทนความร้อนได้ในระดับใช้งานทั่วๆไป ปกป้องความสึกหรอได้ระดับนึง เพราะโมเลกุลไม่เรียบร้อยเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน

ดูจากในรูป(ด้านล่าง)โมเลกุลฟิล์มน้ำมันเครื่อง เปรียบเทียบโมเลกุลก็เหมือนลูกแก้ว ซึ่งในน้ำมัน Group 1 จะมีลุกแก้วหลายๆขนาดปนกัน แล้วลองคิดดูว่า เมื่อนำมาวางบนกระจก(แทนเส้นสีดำในรูปนะ) แล้วนำกระจกอีกแผ่นนึงมาวางด้านบน ก็จะเห็นได้ว่ามีเพียงลูกแก้วไม่กี่ลุกเท่านั้นที่ทำหน้าที่รับแรงกด เสียดสีและเคลื่อนที่ ก็ทำให้การป้องกันและลดแรงเสียดทานได้ไม่ดี

Base Oil Group 1

Base Oil Group 2 ก็คือ เอาเจ้า Group 1 มาปรับปรุงด้วยการทำ Hydro Treat (ไฮโดรทรีต) ทำให้มันสะอาดขึ้น เอาสารที่ไม่เกี่ยวข้อง สิ่งปนเปื้อนเช่น พวกกำมะถัน ที่จะทำให้คุณภาพน้ำมันแย่ลง เอามันออกไป ทำให้คุณภาพดีขึ้น แต่โมเลกุลของน้ำมันเล็กใหญ่ยังปนเปกันเหมือนเดิม ดูจากรูปข้างล่างนี้นะ

Base Oil Group 2

Base Oil Group 3 คือ เอาเจ้า Group 2 มาทำ Hydro Crack (ไฮโดรแครก) คือการแตกย่อยโมเลกุลแล้วเรียงโมเลกุลใหม่ให้มันเท่าๆกัน ก็เหมือนลูกแก้วขนาดเท่าๆกันวางเรียงกันบนพื้น ก็ช่วยกันกลิ้ง รับแรง ได้ดีกว่าลูกแก้วที่มีขนาดไม่เท่ากัน ดูจากรูปด้านล่าง มันก็เท่ากับว่าเรื่องการหล่อลื่นก็ต้องดีขึ้น ลดการเสียดสี ความสึกหรอก็จะต่ำลงด้วย และด้วยกรรมวิธีต่างๆ ทางเคมี (UCBO Unconventional Base Oil) ทำให้ประสิทธิภาพใกล้เคียง Base Oil Group 4 (PAO) มาก และผู้ใช้งานส่วนใหญ่ยอมรับในประสิทธิภาพที่ใกล้เคียง และราคาถูกกว่า Group 4 ก็เลยเป็นที่นิยมในสมัยนี้

Base Oil Group 3

Base Oil Group 4 เรียกกันอีกชื่อว่า PAO (PolyAlphaOlefines) ผลิตจากสารสังเคราะห์แท้ 100% เกิดจากหลอดแก้ว 555 ใช่ครับ เกิดจากห้องทดลองล้วนๆ สังเคราะห์แน่ๆ ราคาก็สูงเป็นอันแน่แท้ โมเลกุลของฟิล์มน้ำมัน Group 4 นี้ก็จะเรียงตัวสวยงาม ดูจากรูปด้านล่างเลย ก็แน่หละสั่งให้เกิด ก็ต้องเนียนสุดแล้ว พอเรียงตัวเท่าๆกัน ก็หล่อลื่นได้ดี ลดแรงเสียดทาน ลดความสึกหรอ ได้มาก ตามระเบียบ

Base Oil Group 4

Base Oil Group 5 Ester Base กลุ่มเทวดา เป็นสารสังเคราะห์ 100% นั่นแหละ ไม่ได้มาจาก ปิโตรเลียมแล้วจะมาจากแหล่งอื่น จากพืช มั่ง อย่างอื่นมั่งแล้วแต่ว่าค่ายไหนจะไปแสวงหาอะไรมาทำให้มันเลิศเลอ ก็จะเรียกว่า Ester Base ซึ่งมีคุณสมบัติที่ดีกว่าทั้ง 4 กลุ่มที่ผ่านมา ที่เด่นๆที่เขาว่าไว้คือ ฟิล์มน้ำมันเแข็งแรงมาก ทนแรงเฉือนสูงๆ อุณหภูมิสูงๆ ได้เป็นอย่างดี มันรักษาอุณหภูมิให้คงที่ คงสมรรถนะการหล่อลื่นได้นิ่งที่สุดในสถานการณ์สุดโหดระดับแข่งขันนั่นแหละครับ แต่ก็มีข้อเสียอยู่เหมือนกันเท่าที่ผมได้ข้อมูลมา มันมีการกัดกร่อนสูง ซึ่งก็อาจจะมีผลกับพวกซีลยางต่างๆ ในรถยนต์ทั่วๆไป จึงเหมาะกับระดับ แข่งขัน เพราะมีการ Maintenance ตลอด หรืออาจจะเหมาะกับวัยรุ่นสร้างตัวแบบว่าสร้างตัวตอนปลาย สายแข่งขัน ละ มีตังเยอะ ++ แล้วนั่นเอง

หรือเป็นรถยนต์สมรรถนะสูงที่ทางโรงงานกำหนดมาเลยว่าต้องใช้น้ำมันเครื่องเกรดนี้ เกรดนั้น ก็ว่ากันไป สายซุปเปอร์คาร์ เขาก็ไม่มีปัญหากับเรื่องค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว

Base Oil Group 5

เอาหละ ที่พูดไป คือ ต้นทางหลักของน้ำมันเครื่องที่ทำให้มีหลายเกรด หลายราคา

ในเมื่อเราเข้าใจที่มาของน้ำมันเครื่องแล้ว ก็จะเล่าต่อว่า น้ำมันเครื่องแต่ละประเภทแตกต่างกันยังไงบ้าง แล้วอะไรทำให้ประสิทธิภาพแตกต่างกัน รวมถึงราคาด้วย

ประเภทของน้ำมันเครื่อง

น้ำมันเครื่องแบบไหน เหมาะกับเรา

น้ำมันเครื่อง เกรด ธรรมดา

น้ำมันเครื่องเกรดธรรมดา คือ น้ำมันเครื่องเกรดธรรมดาสุดๆ Mineral Oil เรียก น้ำมันแร่ ไม่มีการทำอะไรพิเศษ แต่ใส่สารเติมแต่งต่างๆ ที่เขาเรียกรวมๆ ว่า Additives ใส่มาประมาณ 20-30% ก็แล้วแต่ยี่ห้อ มาผสมกับน้ำมัน Base Oil Group 1 ประมาณ 70-80 % (ดูจากรูปด้านล่างจะเห็นได้ชัดว่าผสมให้แค่ไหน)  เมื่อทำเสร็จก็ขายสิครับรออะไร

น้ำมันเครื่องเกรดธรรมดา

คุณสมบัติน้ำมันเครื่องเกรด ธรรมดา ก็หล่อลื่นเครื่องยนต์ได้ แต่เรื่องการปกป้องความสึกหรอกก็อยู่ในระดับต่ำสุดของกลุ่มที่ขายๆกัน เพราะโมเลกุลของฟิล์มน้ำมันนั้น มันมีเล็กใหญ่ไม่เท่ากันก็ทำให้เวลารับแรงกด แรงเสียดสี มันจะเน้นเป็นจุดๆไป ไม่ได้มีการกระจายแรงออก ฉะนั้นความสึกหรอกก็จะมาก

น้ำมันเครื่อง เกรด เทคโนโลยีสังเคราะห์

ถัดมาเรียกว่าอะไรดี คือ กลุ่มที่เรียกว่า Blend Synthetic, Synthetic Technology เทคโนโลยีสังเคราะห์ (ฟังแล้วดูดี ดูคล้ายน้ำมันเครื่องสังเคราะห์) ในตลาดน้ำมันเกรดนี้ จะเป็นส่วนผสมของ Group 1+2 ซึ่ง Base Oil Group 2 จะผ่านกระบวนการลดสารปนเปื้อน หรือ สารเคมีที่ทำให้น้ำมันเครื่องเสื่อมสภาพออกไป (ดูรูปน้ำมันข้างบนได้ ว่า Base Oil มันใสขึ้นเรื่อยๆ)

ก็จะทำให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น และมีประสิทธิภาพดีกว่าตัวแรกขึ้นมา เพราะผสมน้ำมันเครื่องสังเคราะห์เข้ามาหน่อยนึง ประมาณ 10% ดูจากรูปด้านล่างนะเข้าใจง่าย ซึ่งว่าตามราคาแล้ว ไม่คิดว่าจะมียี่ห้อไหนเอาน้ำมัน Base Oil Group 4 มาผสมหรอก คงใช้แค่ Group 3 มาผสมสักหน่อยก็พอแล้ว ไม่งั้นราคาจะสูงไปอีก

น้ำมันกลุ่มนี้จะเป็นที่นิยมนำไปทำเป็นชื่อตามนี้ เช่น Synthetic Performance , Synthetic Blend , Synthetic Power ประมาณว่าผสมสารสังเคราะห์ไง ผสมแค่ไหนไม่ได้บอก และจะไม่เขียนว่า Synthetic 100% นะ ผิด กฏหมาย เพราะมันไม่ใช่ 100%

พวกเทคโนโลยีสังเคราะห์

คุณสมบัติน้ำมันเครื่องเกรด เทคโนโลยีสังเคราะห์ ก็หล่อลื่นเครื่องยนต์ได้ แต่เรื่องการปกป้องความสึกหรอก็อยู่ในระดับใช้งานทั่วๆไป เพราะโมเลกุลของฟิล์มน้ำมันส่วนใหญ่นั้น ก็ยังคงเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน แต่ที่ดีหน่อยคือมีส่วนผสมจาก Base Oil Group3 มาร่วมวงไพบูลย์ด้วยแล้ว ก็จะมีการต้านทานการเกิดฟอง ความเสื่อม ความร้อนได้ดีขึ้น

น้ำมันเครื่อง เกรด กึ่งสังเคราะห์ Semi Synthetic

น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ Semi Synthetic (เซ-มิ-ซิน-เท-ติค) หรือหลายยี่ห้อก็เรียก Fully Synthetic (ฟูล-ลี่-ซิน-เท-ติค) ก็ได้ จะมีการผสมน้ำมันเครื่องสังเคราะห์เข้ามา 15-30% เมื่ออัตราส่วนของดีเข้ามามากขึ้น ก็ทำให้น้ำมันตัวนี้น่าใช้ เพราะประสิทธิภาพมันดีขึ้นเยอะแบบรู้สึกได้

Semi Synthetic ตอนนี้ส่วนใหญ่ก็จะเป็นน้ำมัน Base Oil Group 3 มาผสมซะเป็นส่วนใหญ่ น้อยยี่ห้อที่จะเอา Base Oil Group 4 มาผสม เพราะใช้คำการตลาดคำเดียวกันแต่ราคาขายสูงกว่า ลูกค้าก็คงไม่ซื้อ ยกเว้นสายเจาะลึกซึ่งคงมีน้อยมากๆ

เกรดนี้เหมาะกับคนใช้รถเยอะ ทางไกล วิ่งยาวๆ หรือขับเร็ว ใช้รถเยอะๆ แต่ไม่ซิ่งสายโหด

น้ำมันเครื่องเกรด กึ่งสังเคราะห์ Semi Synthetic

คุณสมบัติน้ำมันเครื่องเกรด กึ่งสังเคราะห์ Semi Synthetic หล่อลื่นเครื่องยนต์ได้ดี ปกป้องการสึกหรอก็อยู่ในระดับดีขึ้นแล้ว เพราะโมเลกุลของฟิล์มน้ำมันนั้น เริ่มมีขนาดที่เท่าเทียมกันในปริมาณที่มากขึ้น อานิจสงฆ์จากโมเลกุลที่เท่าๆ กันมาในปริมาณที่มากขึ้น ก็ปกป้องได้กลางๆแล้วหละ ความเห็นส่วนตัวเกรดนี้คุ้ม

ดูจากในรูปโมเลกุลฟิล์มน้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ Semi Synthetic ลักษณะเริ่มมีการเรียงตัวและขนาดที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น นั้นคือผลพวงจากการผสม Base Oil Group 3 หรือ 4 ที่มากขึ้นนั่นเอง

น้ำมันเครื่อง เกรด สังเคราะห์ Fully Synthetic

น้ำมันเครื่องเกรด สังเคราะห์ Fully Synthetic

ณ จุดๆ นี้จะเริ่มสร้างความสับสนให้กับผู้ใช้น้ำมันเครื่องแล้วหละครับ ผมยัง งง อยู่นาน ถ้าดูรูปแล้วจะเห็นว่าน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ทำไมยังมีส่วนผสมของ Base Oil 1-2 อยู่ แล้วทำไมถึงเรียกชื่อว่า Fully Synthetic

เรื่องมันมีอยู่ว่า Base Oil Group 3 นั้นใช้เทคนิคทางเคมีผสมกับสารที่สังเคราะห์ขึ้นมา เลยหยิบคำว่า สังเคราะห์ มาบอกว่า Group 3 เป็นน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ ถึงแม้ว่ายังต้องมีส่วนผสมของ Base Oil 1,2 อยู่ แต่ในปริมาณที่น้อย คือ ประมาณ 10% เท่านั้น ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพใกล้เคียง Base Oil Group 4 ที่เป็นสังเคราะห์ 100% แต่ราคาถูกกว่า และตามมาตรฐานอเมริกา กับ ยุโรป ยอมให้เรียกได้ว่าเป็น Fully Synthetic

แต่ว่าน้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้ยี่ห้อต่างๆที่ขายอยู่ในตลาดส่วนใหญ่อาจจะไม่ได้ใช้ Base Oil 4 เพราะว่าราคาสูง ส่วนใหญ่จะใช้ Base Oil Group 3 แทน เพราะคุณภาพใกล้เคียงกัน ทำให้ราคาขายต่ำลง ต้นทุนต่ำลงด้วย แต่ก็ไม่มีใครบอกหรอกว่าเราใช้ Base Oil Group 3 นะเธอ ก็จะบอกว่าเราเนี่ยสังเคราะห์นะ แค่นั้นจบ คนซื้อก็ซื้อไป ก็เข้าใจว่าสังเคราะห์แล้วก็จบ คนขายก็ขายไป หารู้ไม่ว่าสังเคราะห์มันมีเงื่อนงำหลายสเต็ปจริงๆ

ดูจากในรูปโมเลกุลฟิล์มน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ Fully Synthetic ลักษณะมีการเรียงตัวและขนาดที่เท่าๆกันมากแล้ว นั้นคือผลพวงจากการผสม Base Oil Group 3 หรือ 4 ที่มากขึ้นอย่างมากนั่นเอง

คุณสมบัติน้ำมันเครื่องเกรด สังเคราะห์ Fully Synthetic หล่อลื่นเครื่องยนต์ได้ดี ปกป้องการสึกหรอก็อยู่ในระดับดี เพราะโมเลกุลของฟิล์มน้ำมันนั้น เริ่มมีขนาดที่เท่าเทียมกันเกือบทั้งหมดแล้ว ดูตามเปอร์เซนต์ก็เกือบ 100% แล้วที่มาจากการสังเคราะห์ ดังนั้น อายุการใช้งาน การปกป้อง การหล่อลื่น ความทนทาน อยู่ในระดับดีถึงดีมาก ในระดับผู้ใช้งานจริงๆจังๆ

น้ำมันเครื่อง เกรด สังเคราะห์ Synthetic 100%

น้ำมันเครื่องเกรด สังเคราะห์ Synthetic 100%

น้ำมันเครื่องเกรดสังเคราะห์ 100% นั้น จะใช้ Base Oil Group 4 ขึ้นไป ก็จะเรียกชื้อนี้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ทุกมาตรฐาน อเมริกา ยุโรป เยอรมัน ก็จะให้ใช้คำนี้ได้เต็มๆ คือ ใช้สารสังเคราะห์ล้วนๆ ตั้งแต่ Group 4 ขึ้นไป แต่อย่างว่าครับมันแพง ส่วนใหญ่ก็จะไปผสมกับ Base Oil Group 3 อีกนั่นแหละ พอผสมกับ Group 3 ปุ๊บ ชื่อเรียกก็จะตกลงไปเป็น Fully Synthetic เลย (เฉพาะเยอรมันเขาไม่ยอม แต่ ประเทศอื่นเขาก็ยอมให้ใช้ 100% ได้) หรือก็ไปใช้ชื่ออื่นกัน เพราะคุณภาพมันดีกว่าตัว Fully Synthetic ที่มาจาก Base Oil Group 3 ประมาณนั้น สรุปชัดๆไม่ได้แล้ว ต้องไปดูรายละเอียดสเป็คของแต่ละยี่ห้อกันเอง

ดูจากในรูปโมเลกุลฟิล์มน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ Synthetic 100% ลักษณะมีการเรียงตัวสวยงามขนาดที่เท่าๆกันทั้งหมด นั้นคือผลพวงจากการสังเคราะห์ เลยสามารถกำหนดได้ทุกอย่าง

คุณสมบัติน้ำมันเครื่องเกรด สังเคราะห์ Synthetic 100% หล่อลื่นเครื่องยนต์ได้ดีมาก เพราะโมเลกุลของฟิล์มน้ำมันนั้น เท่าเทียมกันทั้งหมดแล้ว ก็มันสังเคราะห์ 100% ก็จะให้เป็นยังไงก็ได้ ตามสั่ง ดังนั้น อายุการใช้งานเครื่องยนต์ การปกป้อง การหล่อลื่น ความทนทาน อายุการใช้งานของน้ำมันเครื่องเองอยู่ในระดับดีถึงดีมาก เหมาะหับผู้ใช้งานจริงๆจังๆ หรือเครื่องยนต์สมรรถนะสูง อีกเช่นเคย

น้ำมันเครื่อง เกรด สังเคราะห์ Synthetic 100% (Ester)

น้ำมันเครื่องเกรด สังเคราะห์ Synthetic 100%

น้ำมันเครื่องเกรดสังเคราะห์ 100% (Ester) นั้น จะใช้ Base Oil Group 5 ล้วนๆ เหมาะสำหรับระดับแข่งขัน เพราะฟิล์มน้ำมันมีความทนทาน ต่อแรงเฉือน ต่ออุณภูมิที่สูงต่อเนื่อง ได้ดีมาก แพงสุด แต่ไม่ใช่ว่าจะดีในทุกๆด้าน เพราะสารสังเคราะห์พวก Ester มีผลข้างเคียงเรื่องการกัดกร่อนซีลยาง ก็จะทำให้ไม่เหมาะรถที่ใช้งานทั่วไปเท่าไหร่นัก เพราะต้องมีการดูแลในส่วนอื่นๆเพิ่มเติม เป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการดูแลไปอีก หลายยี่ห้อก็จะใช้วิธีการผสมกับ Group 4 ร่วมด้วยทำนองนี้ จะได้ลดข้อเสียตรงนี้ลงไป แต่ยี่ห้อไหนก็ต้องไปตามรายละเอียดกันเอาเองเนอะ

แต่ถ้าใจรัก สายซิ่ง รถสมรรถนะสูง มีตัง ก็จัดกันไปครับ

ถึงเวลานี้ ก็คงจะพอเข้าใจแล้วนะครับ น้ำมันเครื่องเกรดไหน มันมีคุณภาพระดับไหน และแบบไหนเหมาะกับเรา และฉลากที่แปะแล้วใช้ชื่อทางการค้าสวยหรูพาให้สับสน เมื่อเรามีความรู้แล้วก็จะสามารถเลือกน้ำมันเครื่องได้ตรงกับที่เราต้องการ และ คุ้มค่าคุ้มราคาแบบไม่โดนเนียนขายอีกแล้ว เพราะ เลือกให้เหมาะสมก็จะประหยัดเงินค่าดูแลรถยนต์ไปได้อีกพอสมควร

รักชอบยี่ห้อใหนก็จัดไป รายละเอียดว่าผสมอะไรเท่าไหร่บ้างก็ต้องไปเจาะกันเป็นรุ่นๆไปนะครับ เพราะเขาไม่บอกข้างแกลลอนเลย ยี่ห้อไหนเขาใส่ของดีเขาบอกแน่ๆ

สิ่งสำคัญของการดูแลเครื่องยนต์คือ คือ การเปลี่ยนน้ำมันเครื่องถ่ายตามระยะ อย่าใช้จนมันแห้งนะ เพราะน้ำมันเครื่องมันมีอัตราการระเหยได้เหมือนกันนะ ไม่จำเป็นต้องเครื่องหลวมถึงน้ำมันเครื่องจะหายเท่านั้น

ยังมีเรื่องเบอร์น้ำมันเครื่อง ค่าความหนืด ค่าความคงตัว ที่จะต้องมาอธิบายกันอีกในภายภาคหน้า รออ่านก็แล้วกันนะครับ

บทสรุป การเลือกน้ำมันเครื่อง แต่ละเกรด

ขับรถทั่วๆไป ขับไม่เยอะ เน้นไป กลุ่ม 1 น้ำมันแร่ และ 2 พวก Synthec Technology ทำนองนี้ ถ้าอยากดูแลดีก็มา กลุ่ม กึ่งสังเคราะห์ Semi Sythetic กันไป

ขับรถเยอะ เริ่มมีการเดินทางไกลหน่อย เร็วบ้าง ก็อยากให้มาที่ 2 และ กึ่งสังเคราะห์ หรือ มาถึงสังเคราะห์เลย

ขับรถเยอะ เร็ว แรง แซง ไปตามเรื่อง ให้เริ่มเรื่องกันที่ กึ่งสังเคราะห์ มาถึง สังเคราะห์ Fully Synthetic และ สังเคราะห์ Premium Group 4

ขับแข่ง รถแรง รถสมรรถนะสูง ก็เริ่มที่ สังเคราะห์ Fully ขึ้นไปเลย

ส่วนอันที่เป็นประเด็นร้อน

เป็นดราม่า เรื่อยๆของวงการ น้ำมันเครื่อง ก็คือ

คำว่า น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ Fully กับ Synthetic 100% เนี่ยรายละเอียดมันมีการแบ่งชั้นวรรณะ ว่าแกมาจาก Group 3 บางประเทศไม่ให้เรียก 100% ต้องมาจาก Group 4 เท่านั้น แต่หลายๆประเทศก็ให้เรียก 100% ได้มั่งหละ เลยจะมีการตบตี ขิงกันในหมู่ผู้ที่เล่นรถ เล่นน้ำมันเครื่องระดับจริงจังกันขึ้นมา

คือ เอาจริงๆ ผมก็อยากจะบอกว่าไม่ต้องสนชื่อมันหรอก มันเป็นการใช้คำ เพื่อ การตลาด คือ จะเอามาตรฐานไหนเป็นเกณฑ์อีก ไม่ค่อยจะเหมือนกันสักกะที่ ส่วนผสมแต่ละยี่ห้อก็ไม่บอกกันว่าผสมอะไรเท่าไหร่ มันน่าปวดหัว

จนตอนนี้ผมยอมละ Fully กับ sythetic 100% เนี่ย คือๆกัน สังเคราะห์แท้เหมือนกัน ส่วนยี่ห้อไหนใส่ของแพงมา คือ Group4 PAO หรือ Easter เขาก็เอาขึ้นฉลากให้เห็นกันโต้งๆเลย ก็แหม ของแพงถ้าใส่มาคงไม่มียี่ห้อไหน มาปิดทองหลังพระหรอกใช่ไหม เขาจะยกระดับเป็นสินค้า Premium ส่วนผสมก็อาจจะเป็น Group 3 4 5 มาผสมกันตามอัตราส่วนก็ได้ แต่เขาว่ากันว่า ถ้ากล้าขึ้นฉลาก Group 4 PAO ก็ต้องผสมมาเกิน 50% หละ (เขาว่ากันว่านะ ก็ไม่มีใครบอกส่วนผสมอ่ะ)

และ ราคา ชวนขนลุกขึ้นมาทันที ต่ำๆก็ลิตรละ 5-600 ร้อยบาทขึ้นไป แต่จะว่าไป ก็ชวนให้อยากลองเหมือนกันนะ ว่ามันจะสักแค่ไหนเชียว จริงไหมครับ

เรื่องต่อไป หลังจากเลือกเกรดน้ำมันเครื่องกันได้แล้ว

ก็ต้อง

เลือก เบอร์ ความหนืด ของ น้ำมันเครื่อง

ความหมาย 0W30 อะไรอย่างนี้ มันหมายความว่าอะไรกันบ้าง รออ่านกันต่อไป